วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

หลักจิตวิทยาเพื่อการบริการแนะแนว



การนำเอาทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการของอิริคสัน และ ทฤษฎีจิตวิทยาการเรียนรู้ของ บี เอฟ สกินเนอร์ มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหางานบริการแนะแนวในสถานศึกษาด้านการบริการให้คำปรึกษา
         ครูวีร์
          บริการให้คำปรึกษานับว่าเป็นบริการที่สำคัญที่สุดในบริการแนะแนว เป็นเสมือนหัวใจของบริการแนะแนว การบริการแนะแนวในสถานศึกษาจะขาดบริการให้คำปรึกษาไม่ได้ และผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษา ทำความเข้าใจ หลักจิตวิทยา ทั้งทฤษฎีด้านพัฒนาการและด้านการเรียนรู้ และนำหลักจิตวิทยามาประยุกต์ใช้เพื่อการบริการให้คำปรึกษาเกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดแก่ผู้เรียน
          หลักการของการให้คำปรึกษาคือ การให้คำปรึกษาเป็นการช่วยเหลือรูปแบบหนึ่ง ที่อาศัยความสัมพันธ์และการสื่อสารระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษา เพื่อให้ผู้รับการปรึกษาเกิดความเข้าใจตนเองและเข้าใจปัญหา ให้ความรู้และทางเลือก ในการแก้ปัญหานั้นอย่างเพียงพอ เพื่อให้ผู้เรียนมีสภาพอารมณ์และจิตใจที่พร้อมจะคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง และวัตถุประสงค์ของการให้คำปรึกษาจะต้องช่วยให้ผู้เรียน 1. เกิดแรงจูงใจที่จะให้ข้อมูลแก่ครู 2. เข้าใจและเห็นปัญหาของตนเอง   3. อยากแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาตนเอง 4.ดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาตนเอง                                                                                                                               ซึ่งจากหลักการที่กล่าวมา การศึกษาทฤษฎีด้านพัฒนาการทางสังคม ซึ่งเน้นพัฒนาการด้านบุคลิกภาพของบุคคลในแต่ละช่วงวัยของอิริคสันจะช่วยให้ครูผู้รับผิดชอบงานบริการแนะแนวด้านการให้คำปรึกษาเข้าใจบุคลิกภาพและความต้องการของผุ้เรียนในแต่ละช่วงวัยได้เป็นอย่างดี  
          อีริคสัน ได้กล่าวถึงพัฒนาการทางบุคลิกภาพว่า การพัฒนาการทางบุคลิกภาพเกิดขึ้นเนื่องจากการที่คนติดต่อสัมพันธ์กับสังคม โดยที่เขาได้แบ่งขั้นพัฒนาการทางบุคลิกภาพออกเป็น 8 ขั้น ซึ่งจะสืบเนื่องติดต่อกันไปตลอดชีวิต ในแต่ละขั้นของพัฒนาการทางบุคลิกภาพ มีโอกาสที่จะพัฒนาไปได้ไม่ทางบวกก็ทางลบ ถ้าองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งได้แก่ การอบรมเลี้ยงดูเป็นไปอย่างเหมาะสมก็จะส่งเสริมพัฒนาการของบุคคลนั้นๆ ไปในลักษณะที่สมบูรณ์ มีสุขภาพจิตที่ดี มีชีวิตที่มีความสุข ในทางตรงกันข้าม ถ้าองค์ประกอบต่างๆ ในขั้นนั้นๆ ไม่เหมาะสม ก็จะทำให้คนนั้นเป็นผู้ที่มีปัญหาทางการปรับตัว มีปัญหาทางอารมณ์ แต่ละขั้นของพัฒนาการจะได้รับอิทธิพลจากขั้นที่มาก่อนซึ่ง งานบริการแนะแนวเน้นการบริการผู้เรียนในระดับประถมศึกษา ซึ่งหากพิจารณาตามทฤษฎีดังกล่าวแล้ว ผู้เรียนจะอยู่ในช่วงต่อไปนี้
                ขั้นที่ 4 ความขยันหมั่นเพียรกับความรู้สึกต่ำต้อย (Industry Versus Inferiority)จะอยู่ในช่วงอายุ 6-12 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยเด็กตอนปลาย เด็กในวัยนี้มีความเจริญเติบโตมาก เริ่มแสดงความคิดเห็นและแก้ปัญหาต่างๆ ได้ เด็กจะเริ่มพัฒนาความรู้สึกเด่น โดยการพยายามเรียนรู้ที่จะทำงานได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด เริ่มขยันขันแข็งหาความรู้ใส่ตนเอง สิ่งที่เป็นอันตรายสำหรับการพัฒนาในวัยนี้ คือ รู้สึกมีปมด้อยถ้าเขาทำงานไม่สำเร็จ หรือช่วยตนเองไม่ได้ แต่ถ้าเด็กได้รับการกระตุ้นให้ทำสิ่งต่างๆ จนสำเร็จ ให้กำลังใจ คำชมเชย ก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กเกิดความพยายามและขยันหมั่นเพียร
          ซึ่งการบริการให้คำปรึกษาเด็กในช่วงวัยประถมนี้ ครูแนะแนวนำเอาทฤษฎีนี้มาแก้ปัญหา โดยครูจะต้องเข้าใจผู้เรียน และมุ่งให้ผู้เรียน เข้าใจตนเอง รู้จักตนเอง รู้ถึงความถนัดและความชอบของตนเอง ส่งเสริมความถนัดของผู้เรียนเป็นรายบุคคล ให้ความสำคัญแก่เด็กๆทุกคน เพื่อไม่ให้ผู้เรียนเกิดปมด้อย รวมทั้งมุ่งให้ผู้เรียนเข้าใจเพื่อนๆของตนด้วย และเมื่อต่างเข้าใจธรรมชาติของเด็กในช่วงวัยนี้ เด็กจะเปิดใจที่จะเล่าความรู้สึก ปัญหา และความต้องการของตนแก่ครู
          ทฤษฎีการเรียนรู้ที่นำมาแก้ปัญหาคือ ทฤษฎีการวางเงื่อนไขของสกินเนอร์ นับว่าเป็น “จิตวิทยาสำหรับครู” ที่สำคัญมาก ซึ่ง “ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ” โดยเน้นหลักการเสริมแรง มีหลักสำคัญว่า เราสามารถควบคุมพฤติกรรมของคนได้โดยวิธีการให้รางวัลหรือโดยหลักการเสริมแรง สกินเนอร์อธิบายว่ามนุษย์เรียนรู้พฤติกรรมต่างๆโดยผ่านประสบการณ์ที่ให้ผลกรรมเชิงบวกและลบ ให้ผลเป็นที่พอใจหรือไม่พอใจ พฤติกรรมใดที่มีผลต่อเนื่องเป็นบวก พฤติกรรมนั้นย่อมเกิดขึ้นซ้ำบ่อยครั้ง ในขณะที่พฤติกรรมที่ให้ผลเป็นลบมีแนวโน้มที่จะไม่เกิดขึ้นต่อไป ซึ่งตามทฤษฎีนี้ ครูสามารถควบคุมพฤติกรรมของผู้เรียนได้โดยผู้เรียนไม่รู้สึกว่าถูกควบคุม ซึ่งหลักการที่ควรนำมาแก้ปัญหาบริการให้คำปรึกษาคือ การเสริมแรงจูงใจในทางบวก (positive reinforcement) เป็นการเสริมแรงจูงใจเพื่อเพิ่มพฤติกรรมที่ต้องการ โดยการให้รางวัล หรือผลตอบแทนในสิ่งที่บุคคลเหล่านั้นต้องการ เช่น การกล่าวคำขอบคุณ การให้คำชื่นชม เป็นต้น ซึ่งนำเอาทฤษฎีนี้มาประยุกต์ใช้ในการสร้างแรงจูงใจให้แก่นักเรียน ซึ่งผู้ให้คำปรึกษาที่ดี ควรหลีกเลี่ยงการเสริมแรงในด้านลบ และหันมาใช้การเสริมแรงทางบวกที่เหมาะสมกับเด็กในช่วงวัยนี้แทน นั่นคือ การชม ยกย่อง และให้รางวัล อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนให้ข้อมูล เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง เกิดความมุ่งมั่นและความพยายามที่จะพัฒนาความสามารถและความถนัดของตนเองให้สำเร็จ